Quantcast
Channel: WiFi – Notebookspec
Viewing all articles
Browse latest Browse all 41

รีวิว ASUS Vivobook S 15 S5507QA ใช้งานเยี่ยม ชิป Snapdragon X Elite แบตอึด 15 ชั่วโมง ราคา 46,990 บาท

$
0
0

ASUS Vivobook S 15 S5507QA ความหวังใหม่ของคนทำงานด้วยพลัง Snapdragon X Elite และฟีเจอร์ครบเครื่อง!

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

ถ้าพูดถึง Qualcomm ทุกคนย่อมคิดถึงชิปเซ็ตในสมาร์ทโฟนก่อน จนกระทั่งยักษ์แห่งวงการสมาร์ทโฟนจับมือกับเหล่ายักษ์แห่งวงการคอม ก็ได้เป็น ASUS Vivobook S 15 S5507QA โน๊ตบุ๊ค Copilot+ PC รุ่นแรกรับยุคแห่ง AI ที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยพลังของชิปเซ็ต Snapdragon X Elite มี NPU (Neural Processing Unit) กำลังประมวลผล 45 TOPS (45 Trillions Of Operations Per Second – 45 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที) ทำให้การประมวลผลคำสั่งร่วมกับส่วนเชื่อมต่อ AI ในแต่ละโปรแกรมทำได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมมาก ช่วยให้งานต่างๆ เสร็จลุล่วงในเวลาไม่นาน

ถึงมีชิปเซ็ตแต่ระบบปฏิบัติการไม่รองรับก็คงไม่ได้ Windows 11 แพทช์ 24H2 จึงเพิ่ม Emulator อย่าง “Prism” เข้ามาให้ชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM สามารถรันโปรแกรมตระกูล x86 ได้ เทียบแล้วก็เหมือน macOS มี Rosetta 2 ติดตั้งมาในตัว พอทุกอย่างพร้อมทาง Microsoft ก็สร้างมาตรฐาน Copilot+ PC ใหม่เพิ่มเข้ามาเพื่อกำหนดให้พีซีที่สามารถรัน AI ได้อย่างลื่นไหลต้องผ่านเงื่อนไขดังนี้

Advertisement
  1. ติดตั้งชิปเซ็ตมีพลังประมวลผลคำสั่ง 40 TOPS ขึ้นไป รองรับการแปลภาษาแบบ real-time และสร้างภาพด้วย AI (image generation) ได้
  2. ติดตั้งชิปเซ็ตที่รองรับ AI เช่น Snapdragon X Elite, Snapdragon X Plus รวมถึงรุ่นใหม่ในอนาคต
  3. มีหน่วยความจำ RAM 16GB DDR5/LPDDR5 และสตอเรจ SSD/UFS ความจุ 256GB ขึ้นไป

ซึ่ง ASUS Vivobook S 15 S5507QA นอกจากผ่านเงื่อนไขข้างต้นแล้ว ยังเสริมสเปคและฟีเจอร์เข้ามาให้โน๊ตบุ๊ค Copilot+ PC รุ่นแรกของทางแบรนด์หลายอย่าง ทั้งให้แบตเตอรี่จุ 70Wh ให้ทำงานได้นานถึง 18 ชั่วโมง แต่มิติเครื่องยังบาง 1.47 ซม. เบาเพียง 1.42 กก. ผิดกับหน้าจอที่ใหญ่ถึง 15.6 นิ้ว ความละเอียด 3K พาเนล OLED ค่า Refresh Rate 120Hz แสดงผลขอบเขตสีได้กว้าง 100% DCI-P3 ได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR True Black 600 การันตีว่าภาพบนหน้าจอจะสวยสมจริงเหมาะกับการทำงานทุกรูปแบบ ตั้งแต่งานเอกสารทั่วไปจนกระทั่งงานตัดต่อวิดีโอ, แต่งภาพและใดๆ ก็ได้ เสริมเซนเซอร์สแกนใบหน้า IR Camera เข้ามารักษาความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวของเจ้าของให้ดียิ่งขึ้น

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

องค์ประกอบที่ทำให้ ASUS Vivobook S 15 S5507QA ยิ่งน่าใช้มีหลายสิ่ง ไม่ว่าจะบานหน้าจอกางได้แบนราบ 180 องศาไปกับพื้นโต๊ะ ประกบชุดระบายความร้อน ASUS IceCool มาช่วยระบายความร้อนได้เป็นอย่างดีแถมเสียงก็เบาไม่รบกวนโสตประสาท ได้พอร์ต USB 4.0 Gen 3 Type-C มาอีกคู่ร่วมกับพอร์ตมาตรฐาน รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be ด้วยชิป Qualcomm FastConnect 7800 ได้ harman/kardon มาช่วยปรับจูนเสียงลำโพงให้รองรับ Dolby Atmos พร้อมซอฟท์แวร์ติดตั้งมาพร้อมใช้

ลูกเล่นใหม่ของ Vivobook S 15 S5507QA นอกจากคีย์บอร์ด RGB ปรับเอฟเฟคแสงและสีได้ ไฮไลต์หลักต้องยกให้แป้นทัชแพด ASUS ErgoSense ซึ่งขนาดใหญ่ขึ้นพร้อมติดฟังก์ชั่นสไลด์ริมแป้นฝั่งซ้าย, ขวาและแถบบนเพื่อเพิ่มลดแสงเสียงได้รวดเร็ว แถมเลื่อนตำแหน่งคลิปได้ให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นอีก

NBS Verdicts

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

แม้หลายคนจะมองว่า ASUS Vivobook S 15 S5507QA ก็ไม่ต่างจากโน๊ตบุ๊คทำงานทั่วไป อย่างมากก็แค่เปลี่ยนชิปเซ็ตเป็น Qualcomm Snapdragon X Elite ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานนี้ แต่ไม่ใช่กับคนนำ AI มาใช้งานในชีวิตประจำวันแน่นอน เพราะตัวชิปเซ็ตมี NPU ประสิทธิภาพสูงเข้ามาช่วยให้ประมวลผลคำสั่งได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะตอนใช้ Microsoft Copilot หรือ LLMs จะรับรู้ได้ว่าเหล่าปัญญาประดิษฐ์ตอบสนองคำสั่งของเราได้เร็วทันใจกว่าเดิมอย่างชัดเจน

ส่วนคนตามข้อมูลข่าวสารในวงการไอทีมาอย่างยาวนาน อาจสงสัยหรือกังวลว่าเอาชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM มาใช้แล้วจะรันโปรแกรม x86 ได้หรือ? ซึ่งคำตอบนั้นอยู่ใน Windows 11 แพทช์ 24H2 โดยใช้ Prism Emulator ตัวแปลงคำสั่งของโปรแกรมยุคเก่าให้ใช้กับชิปเซ็ตแบบใหม่ได้ และบริษัทผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ชั้นนำก็พากันปรับแต่งโปรแกรมให้รองรับชิปเซ็ต ARM ได้ ไม่ว่าจะ Adobe Suite, CapCut, Microsoft Office Suite, Blackmagic ฯลฯ และมั่นใจว่าจะมีอีกหลายโปรแกรมตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน แถมทาง Qualcomm ก็ประกาศว่ากำลังพอร์ตเกมต่างๆ ให้เปิดเล่นใน Snapdragon X Elite ได้ในอนาคตอย่างแน่นอน

ในแง่การใช้งานจริง ASUS Vivobook S 15 S5507QA สามารถรันโปรแกรมพื้นฐานในชีวิตประจำวันได้ดีไม่มีปัญหา เป็นคอมเครื่องประจำก็เปิดใช้โปรแกรมทั่วไปในชีวิตประจำวันได้สบายๆ ทำงานเอกสารไปจนงานกราฟิคตัดต่อภาพและวิดีโอก็ได้ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วแถมมีพอร์ตพื้นฐานกับ USB 4.0 Gen 3 Type-C ให้ใช้ หรือพกใส่กระเป๋าไปพบลูกค้าก็เบาสบายเพียง 1.42 กก. และชิปเซ็ต ARM ก็ใช้พลังงานน้อยจนไม่ต้องพกพาวเวอร์แบงค์เผื่อไว้เลยก็ได้ จะต่อปลั๊กก็แค่ตอนรันโปรแกรมตระกูล Adobe หรือแบตกำลังจะหมดก็พอ เป็นการเอาจุดแข็งของตัวชิปเซ็ตแบบสมาร์ทโฟนมาปรับใช้กับเดสก์ท็อปได้อย่างเหมาะสมมาก

ข้อสังเกตของ Vivobook S 15 S5507QA อย่างแรกคือ ASUS ซีลตัวเครื่องมาแน่นหนาแทบจะเปิดฝาอัปเกรดไม่ได้ ราวจะบอกผู้ใช้อ้อมๆ ว่าแค่สเปคตั้งต้นนี้ก็ดีพอแล้วไม่ต้องทำอะไรกับมันก็ได้ ถ้าต้องซ่อมเปลี่ยนอะไรไว้เป็นภาระของช่างผู้ชำนาญการดูแลให้ดีกว่า และ Prism Emulator ของ Windows 11 แม้จะแปลงให้โปรแกรม x86 ให้ทำงานบนชิปเซ็ต ARM แล้วใช้งานได้ก็จริง แต่ก็รองรับเฉพาะโปรแกรมประเภท x86 ซึ่งใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวันเท่านั้น ซึ่งไม่กระทบต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันใดๆ แต่ x64 ยังต้องรอทาง Microsoft อัปเดตเพิ่มในอนาคต ซึ่งบางโปรแกรมที่ยังไม่รองรับก็เปิดใช้งานไม่ได้หรือ Crash ระหว่างใช้งานได้ อาจต้องให้เวลาทั้ง Qualcomm และ Microsoft จัดการเพิ่มเติมสักนิด มั่นใจว่าชิปเซ็ตจาก Qualcomm จะเข้ามาเป็นอีกตัวเลือกเมื่อคิดจะซื้อโน๊ตบุ๊คได้แน่นอน

ข้อดีของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA

  1. ชิป Snapdragon X Elite ใช้กับโปรแกรมทั่วไปในชีวิตประจำวันได้โดยไม่มีปัญหา
  2. ชิปเซ็ตจัดการพลังงานได้เยี่ยมยอด ใช้งานได้นานร่วม 15 ชั่วโมง
  3. NPU มีพลังประมวลผล 45 TOPS ช่วยให้ AI ประมวลผลคำสั่งได้รวดเร็ว
  4. อุณหภูมิในเครื่องต่ำและเสียงพัดลมของชุด IceCool เบามาก ไม่รบกวนระหว่างใช้งาน
  5. ได้หน่วยความจำ RAM 32GB LPDDR5x และ M.2 NVMe SSD 1TB ตั้งต้นจากโรงงาน
  6. ตัวเครื่องเบาเพียง 1.42 กก. พกพาได้สะดวกไม่หนักเกินไป
  7. ติดตั้งพอร์ต USB 4.0 Gen 3 Type-C มาให้ 2 ช่อง ต่อหน้าจอแยกและชาร์จไฟได้ในตัว
  8. แป้นทัชแพด ASUS ErgoSense สไลด์ขอบข้างเพิ่มลดเสียง, ความสว่างและเลื่อนคลิปได้
  9. คีย์บอร์ดเป็น Full-size เปิดโปรแกรมเปลี่ยนแสงไฟ RGB คีย์บอร์ดได้
  10. เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและเสถียรด้วย Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be
  11. ชิป FastConnect 7800 รองรับ Codec เสียง aptX Lossless, Snapdragon Sound ในตัว
  12. หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด 3K เป็นพาเนล OLED ขอบเขตสี 100% DCI-P3
  13. หน้าจอได้รับรอง VESA DisplayHDR True Black 600 การันตีความดำสนิทสมจริง
  14. กล้องหน้าใช้สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่อง ถ้าไม่ได้มองหน้าจอจะหรี่แสงและล็อคอัตโนมัติ
  15. ติดตั้ง Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้พร้อมใช้งาน

ข้อสังเกตของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA

  1. ตัวเครื่องซีลมาอย่างแน่นหนา ไม่แนะนำให้เปิดฝาอัปเกรดด้วยตัวเอง
  2. ยังใช้งานกับโปรแกรม x64 บางตัวยังไม่ได้ ต้องรอผู้พัฒนาพอร์ตมาให้ใช้งาน

รีวิว ASUS Vivobook S 15 S5507QA


Specification

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

ASUS Vivobook S 15 S5507QA โน๊ตบุ๊ค Copilot+ PC พร้อมชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon X Elite รุ่นล่าสุดจากผู้ผลิตชิปเซ็ตสมาร์ทโฟน พอผสานกับ Windows 11 24H2 พร้อม Prism Emulator ให้รันโปรแกรม x86 บนชิปสถาปัตยกรรม ARM ได้ ก็ทำงานได้ดีไม่แพ้กันกับโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นในท้องตลาด และทำงานได้ดียิ่งขึ้นเมื่อรันโปรแกรมหรือใช้ AI ซึ่งสเปคจะมีรายละเอียดดังนี้

CPUQualcomm Snapdragon X Elite X1E-78-100 แบบ 12 คอร์ ความเร็ว 3.4GHz
GPUQualcomm Adreno 4.6 TFLOPS
รองรับ DirectX 12
NPUQualcomm Hexagon NPU 45 TOPS
SSDM.2 NVMe SSD ความจุ 1TB
RAM32GB LPDDR5X บัส 7467 MHz
SoftwareWindows 11 Home
Microsoft Office Home & Student 2021
Display15.6 นิ้ว ความละเอียด 3K (2880*1620) พาเนล OLED
Refresh Rate 120Hz
100% DCI-P3
VESA DisplayHDR True Black 600
ConnectivityUSB-A 3.2*2
USB 4.0 Gen 3 Type-C*2
HDMI 2.1*1
MicroSD Card reader*1
Audio combo*1
Wi-Fi 7
Bluetooth 5.4
Weight (กก.)1.42
Price46,990 บาท (BaNANA)

Hardware & Design

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

จุดยืนของ Vivobook S/X Series จะเน้นดีไซน์สวยงามและประสิทธิภาพสูงใช้ทำงานได้ดี ซึ่ง ASUS Vivobook S 15 S5507QA ก็เช่นกัน ตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียมสีขาวตัดกับกรอบหน้าจอสีดำ ติดสติกเกอร์บอกชิปเซ็ต Snapdragon X Elite ไว้ฝั่งซ้ายร่วมกับประกัน Perfect Warranty และ Microsoft Office Home & Student 2021 ตรงข้ามกันจะเป็นสติกเกอร์ของ ASUS บอกจุดเด่นของโน๊ตบุ๊คนี้มีจุดเด่นด้านไหนบ้าง สังเกตว่ามีโลโก้ Copilot+ PC ใส่เพิ่มเข้ามาบอกผู้ใช้ว่า Vivobook S 15 นี้ จะทำงานกับ AI ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

กลางเครื่องถัดลงมาจากทัชแพดจะเห็นว่าทาง ASUS ตัดขอบเครื่องเฉียงขึ้นเล็กน้อยให้เอานิ้วเกี่ยวเปิดหน้าจอได้สะดวก เพียงนิ้วเดียวก็เปิดหน้าจอใช้งานได้ทันทีและขาบานพับหน้าจอก็แข็งแรงไม่กระพือสั่นตอนเปิดใช้งานแม้แต่น้อย

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

ขาบานพับติดตั้งมาตั้งฉากกับบานหน้าจอ ล็อคแกนบานพับเอาไว้ด้านในทำให้กางหน้าจอแล้วไม่ติดฐานตัวเครื่อง จึงดันหน้าจอให้ราบ 180 องศาไปกับพื้นโต๊ะได้ทันที นอกจากแชร์หน้าจอให้ผู้อื่นดูได้ง่าย ยังปรับองศาหน้าจอให้เจ้าของดูได้สะดวกไม่ว่าจะวางบนพื้นโต๊ะหรือขึ้นแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ดี

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

ฝาหลังของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA จะเป็นเพียงฝาหลังสีขาวไม่มีลวดลายใดๆ ติดมาให้ ยกเว้นป้ายชื่อ ASUS Vivobook ตรงกลางฝั่งขวาของบานหลังหน้าจอให้ดูเรียบหรูมีระดับยิ่งขึ้น ถัดลงมาสังเกตว่าตัวบานฝาหลังไม่ได้เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ตัดขอบล่างเว้าขึ้นเว้นให้ช่องระบายความร้อน ASUS IceCool เวลาพัดลมทำงานแล้วจะเป่าตรงออกไปไม่เข้าขอบล่างหน้าจอ

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

ด้านใต้เครื่องสังเกตว่าช่องนำลมเข้าจะมีเพียง 2 แถว กินพื้นที่ฝาใต้เครื่องไปเล็กน้อย แสดงว่าตัวชิปเซ็ตไม่ได้สร้างความร้อนมากนักจึงไม่ต้องเจาะช่องให้กว้างเท่ากับซีพียู x86 ก็ได้ ติดแถบยางกันลื่นเอาไว้ 3 เส้น เป็นเส้นยาวขอบบนและคู่เล็กด้านล่างถัดลงมาจากลำโพงคู่กันเครื่องลื่นหรือเกิดรอยขนแมวตอนวางใช้งานกับพื้นโต๊ะ ฝาหลังขันน็อตหัวแฉกดาว (Trox) ไว้ทั้งหมด 10 ดอกและติดสติกเกอร์ปิดหัวน็อตไว้


Screen & Speaker

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด 3K (2880*1620) พาเนล OLED ค่า Refresh Rate 120Hz เคลมขอบเขตสีกว้างจากโรงงาน 100% DCI-P3 ได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR True Black 600 ว่าสีดำบนหน้าจอนี้จะดำสนิทสมจริง และในโปรแกรม MyASUS ยังใส่ฟีเจอร์ Pixel Refresh มาลดโอกาสเกิดหน้าจอเบิร์น (Burn-in) มาให้ในตัว

กรอบหน้าจอดีไซน์ให้กรอบข้างบางเพิ่มพื้นที่การแสดงผลด้านข้างให้มากขึ้น มีกล้องเว็บแคมพร้อมระบบอินฟราเรด (IR Camera) ติดมาส่วนขอบบนหน้าจอไว้ยืนยันตัวปลดล็อคเครื่องใช้งานได้สะดวก ตัวกล้องมีฟังก์ชั่นจับการมองหน้าจอแล้วหรี่ความสว่างและล็อคจออัตโนมัติถ้าไม่ได้นั่งอยู่หน้าเครื่องหรือหันไปทางอื่น กล้องเว็บแคมมีบานชัตเตอร์ให้สไลด์ปิดได้เวลาไม่ใช้งานส่วนขอบล่างตรงข้ามกันจะสกรีนโลโก้ ASUS Vivobook ไว้ด้วย

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

ASUS เคลมว่าพาเนล OLED ของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA แสดงขอบเขตสีหน้าจอได้กว้าง 100% DCI-P3 แสดงผลภาพได้กว้าง 178 องศา พอทดสอบด้วย DisplayCal 3 กับเครื่อง Calibrite Display Pro HL ของ Calibrite ปรับหน้าจอสว่าง 100% วัดความสว่างได้ 392.02 cd/m2 ได้ขอบเขตสีจริงของหน้าจอ (Gamut coverage) ได้ 100% sRGB, 87.4% Adobe RGB, 99.3% DCI-P3 และขอบเขตสีโดยรวม (Gamut volume) ได้ 151.7% sRGB, 104.5% Adobe RGB, 107.4% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสีหรือ Delta-E เฉลี่ย 0.06~2.06 นับว่าพาเนล OLED รุ่น ATNA56AC03-0 นอกจากได้ขอบเขตสีกว้างตรงตามเคลม จึงใช้ทำงานด้านสีสันไม่ว่าจะเกลี่ยสีแต่งภาพใดๆ ก็ทำได้เยี่ยม

ความสว่างหน้าจอร่วม 400 cd/m2 นอกจากสว่างพอจะสู้แสงแดดได้ทุกสถานการณ์ จะใช้ในอาคารแล้วแสงลอดหน้าต่างมากระทบหน้าจอหรือจะนำติดตัวไปทำงานนอกสถานที่ก็ปรับความสว่างได้ตามสะดวก ถ้าใช้งานในอาคารแนะนำให้ปรับความสว่างไว้ราว 50~60% ก็มองเห็นชัดเจนแล้ว

ลำโพงคู่ใต้เครื่องปรับจูนโดย harman/kardon ทำให้เนื้อเสียงเวลาเปิดดูหนังหรือฟังเพลงได้อรรถรสดี เนื้อเสียงโทนใสฟังสบายหู เสียงเครื่องดนตรีกับนักร้องได้ยินชัดเจนไม่กลืนกันเกินไป เสียงเบสถึงจะไม่หนักแน่นแรงปะทะพอมีให้ฟังเพลงได้หลากหลายแนว ไม่ว่าจะป็อป, ร็อค, แจ๊ส ก็ฟังได้ดี แต่ถ้าเป็นเพลง EDM เน้นเบสหนักๆ แนะนำให้ต่อลำโพงเพิ่มจะดีกว่า

เสียงลำโพงเมื่อปรับระดับเสียงไว้ 100% แล้ววัดด้วยเครื่องวัดเสียง จะดังราว 78~80dB พอจะได้ยินชัดในห้องขนาด 13 ตร.ม. แล้ว ถ้าต้องการปรับโทนเสียงสามารถเปิดโปรแกรม Dolby Access ปรับรูปแบบได้ตามชอบ


Keyboard & Touchpad

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

คีย์บอร์ดของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA เป็นขนาด Full size มีไฟ RGB 1-Zone ปรับความสว่างได้ 3 ระดับ เปลี่ยนสีในซอฟท์แวร์ของ ASUS ได้ตามสะดวก ปุ่มจะมีระยะกดสั้นน่าจะถูกใจคนชอบพิมพ์สัมผัส เพียงออกแรงกดปุ่มทรง Dished key caps ลงไปเล็กน้อยก็ตอบสนองแล้ว แถมสัมผัสเวลาพิมพ์ก็แน่นไม่กลวงหลวมเลย ปุ่มแป้น Numpad จะมีขนาดเล็กกว่าปุ่มชุดหลักเล็กน้อย ในช่วงแรกต้องปรับตัวเล็กน้อยถึงจะใช้ได้ถนัดตามปกติ

ฟังก์ชั่นบนคีย์บอร์ดยังมีให้ใช้ครบถ้วนและรวบฟังก์ชั่นเอาไว้กับปุ่มต่างๆ เช่น Page Up/Down, Home, End จะอยู่กับปุ่มลูกศร เหนือ Numpad จะรวมปุ่มเครื่องหมายคณิตศาสตร์ไว้เป็นกลุ่มด้วยกัน ส่วน Fn ถ้ากดรวมกับ Esc จะสลับเลเยอร์ระหว่าง Function Hotkey และปุ่ม F1~F12 ได้ สังเกตว่าปุ่ม Menu ข้าง Alt ขวากลายเป็น Copilot แล้ว แต่ถ้าใครจะใช้งานก็กด Fn+Ctrl ซ้ายแทนได้

จุดสังเกตต้องระวังของคีย์บอร์ดนี้ คือ ปุ่ม Power รวมอยู่กับปุ่มเหนือแป้น Numpad ซึ่งควรแยกเป็นปุ่มเฉพาะออกไป ป้องกันผู้ใช้พลาดไปกดโดนแล้วดับหรือล็อคเครื่องโดยไม่ตั้งใจ แนะนำว่าย้ายไปอยู่ด้านข้างรวมกับพอร์ตเชื่อมต่อหรือริมเครื่องเหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในเครือก็ดี

คีย์ลัดกดเปลี่ยนโหมดของ ASUS เป็นปุ่ม Fn+F กดแล้วเปลี่ยนได้ 4 โหมด มี Whisper mode เวลาต้องการประหยัดไฟไม่ต้องการเสียงพัดลมดังมาก, Standard mode ให้ทำงานได้ตามมาตรฐานการตั้งค่าจากโรงงาน, Performance mode ไว้เร่งประสิทธิภาพเครื่องให้สูงขึ้นและ Full-speed mode รีดกำลังเครื่องขึ้นไปสูงสุด

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

บรรทัด F1~F12 จะรวมคำสั่ง Function Hotkey ต่างๆ ไว้ ถ้ากด Fn+Esc จะสลับกลับไปปุ่ม Function ตามปกติได้ โดยแต่ละปุ่มจะมีคำสั่งดังนี้

  • F1~F3 – ปิด, ลด/เพิ่มเสียงลำโพง
  • F4 – ปรับความสว่างคีย์บอร์ด เลือกได้ 3 ระดับ ทำงานแบบ Toggle
  • F5~F6 – ลด/เพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
  • F8 – ปุ่มเรียกคำสั่ง Emoji มาใช้งานเหมือนกด Win+; (เครื่องหมายอัฒภาค)
  • F9 – ปิดไมโครโฟน
  • F10 – ใช้ AI Noise cancellation ของไมโครโฟน
  • F12 – เรียกโปรแกรม MyASUS

สังเกตว่าปุ่ม F11 จะไม่มี Hotkeys ติดมาให้อย่างน่าเสียดาย หากใส่คำสั่งอิงกับฟังก์ชั่นของตัวเครื่องอย่างปรับค่า Refresh Rate, พลิกหน้าจอกลับด้านเวลากางหน้าจอให้เพื่อนร่วมงานดู หรือล็อคแป้นทัชแพด ฯลฯ ก็จะดีกว่านี้และคาดหวังว่าทางบริษัทจะติดเพิ่มมาให้ในรุ่นย่อยหรือรุ่นถัดไปก็จะดี

แป้นทัชแพด ASUS ErgoSense นอกจากมีขนาดใหญ่พาดตั้งแต่กึ่งกลางปุ่ม Alt ซ้ายจนถึงปุ่ม Copilot ให้ลากเคอร์เซอร์เมาส์ได้ไกล ใช้ Gesture control ของ Windows 11 ได้สะดวกแล้ว ยังมีฟังก์ชั่นรูดนิ้วตามขอบแป้นได้ด้วย โดยฝั่งซ้ายจะเพิ่มลดเสียง, ฝั่งขวาเพิ่มลดความสว่างหน้าจอ ขอบบนถ้ารูดนิ้วไปฝั่งซ้ายจะถอยคลิปที่เล่นอยู่กลับไป 5 วินาที ไปฝั่งขวาก็จะเร่งไปข้างหน้าแทน มีคำสั่งตวัดนิ้วจากมุมบนขวาเฉียงเข้ามากลางแป้นจะเปิดโปรแกรม ScreenXpert Control Center ขึ้นมา

จากการเพิ่มฟังก์ชั่นให้ทัชแพดควบคุมแสงและเสียงรวมถึงเลื่อนคลิปได้ ก็ไม่จำเป็นต้อง Mapping ปุ่มแบบเดิมอีกต่อไป อาจเปลี่ยนฟังก์ชั่นทับซ้อนกับ ErgoSense ให้เป็นคำสั่งอื่นเช่น Multimedia Keys แทนหรือใส่เป็นฟังก์ชั่นเอื้อการทำงานมากขึ้นก็น่าสนใจเช่นกัน


Connector, Thin & Weight

พอร์ตและการเชื่อมต่อทั้งหมดของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA นอกจากทันสมัยแล้ว ยังไม่ตัดพอร์ตอื่นที่ยังใช้งานในชีวิตประจำวันออกไปถือเป็นเรื่องดี ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องฝากทุกสิ่งเอาไว้กับ USB 4.0 Gen 3 Type-C และ USB Hub เพียงอย่างเดียว ซึ่งการเชื่อมต่อทั้งหมดจะมีดังนี้

  • พอร์ตฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – HDMI 2.1, USB 4.0 Gen 3 Type-C*2, MicroSD Card reader, Audio combo
  • พอร์ตฝั่งขวาจากซ้ายมือ – USB-A 3.2 Gen 1*2
  • การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be รองรับ Bluetooth 5.4

นอกจากพอร์ตพื้นฐานและรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be พอร์ตเด่นของ Vivobook S 15 ต้องยกให้ USB 4.0 Gen 3 Type-C ทั้ง 2 ช่อง เพราะรับส่งข้อมูลได้เร็วมากถึง 40 Gb/s ทำให้ต่อหน้าจอความละเอียดสูงได้หลายจอพร้อมกันแบบ DisplayPort 1.4 อ้างอิงจากตัวชิปเซ็ต Snapdragon X Elite จะรองรับหน้าจอความละเอียดสูงถึง 4K @ 60Hz สูงสุด 3 บาน แสดงผลสีได้ระดับ HDR10 และรองรับการชาร์จไฟแบบ Power Delivery กำลังไฟ 240 วัตต์ในตัว นอกจากนี้ยังต่อพ่วงกับอุปกรณ์เสริมได้อีก ไม่ว่าจะอุปกรณ์ AR/VR, Docking stations ฯลฯ ได้ ทำให้ใช้งานได้สารพัดรูปแบบยิ่งขึ้น

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

น้ำหนักของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA ไม่ว่าจะบนหน้าสเปคหรือบนตาชั่งก็ได้ 1.42 กก. เท่ากันไม่มีผิดเพี้ยน ถ้ารวมกับอะแดปเตอร์ประจำตัวกำลังชาร์จ 90 วัตต์เข้าไปอีก 388 กรัม จะมีน้ำหนักเพิ่มเป็น 1.81 กก. เท่ากับน้ำหนักเฉพาะตัวเครื่องของโน๊ตบุ๊คขนาดเดียวกันในท้องตลาด จึงพกใส่กระเป๋าเป้หรือ Sling bag สะพายข้างก็ได้ไม่ปวดไหล่

ถ้าเป็นโน๊ตบุ๊คทั่วไปอาจจะแนะนำให้พกอะแดปเตอร์ GaN หรือพาวเวอร์แบงค์ 65 วัตต์กับสาย USB-C สักเส้นเผื่อเอาไว้ชาร์จไฟในยามจำเป็น แต่ไม่ใช่กรณีชิปเซ็ต Snapdragon X Elite ซึ่งจัดการพลังงานได้ดีอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ใช้เรนเดอร์วิดีโอหรือโมเดล 3D ก็แทบไม่มีโอกาสใช้อุปกรณ์ข้างต้นเลย


Performance & Software

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

สเปคของชิป Qualcomm Snapdragon X Elite ของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA เป็นรุ่นย่อย X1E-78-100 แบบ 12 คอร์ แยกเป็น 2 ชุดคือ 4P+8P ความเร็วสูงสุด 3.4GHz รหัส Qualcomm Oryon สถาปัตยกรรมขนาด 4 นาโนเมตร มี RAM Onboard ความจุ 32GB LPDDR5X บัส 8448 MHz ติดตั้งมาให้ใช้งาน

จากการทดสอบด้วย CPU-Z Benchmark แยกกันระหว่างเวอร์ชั่น ARM64 เทียบกับชิป Qualcomm Snapdragon 8cx Gen 3 ซึ่งเปิดตัวมาก่อนหน้าเทียบกับ CPU-Z เวอร์ชั่นมาตรฐานสำหรับซีพียู x86 จะได้ผลดังนี้

รุ่นและผลการทดสอบSingle ThreadMulti Thread
Snapdragon X Elite (CPU-Z ARM64)379.85,097.6
Snapdragon 8cx Gen 35633610
Snapdragon X Elite (CPU-Z x86)266.63,587.1
Intel Core i7-5960X3603,518

ดูจากผลคะแนน จะเห็นว่า Snapdragon X Elite มีประสิทธิภาพสูงกว่าชิปเซ็ต 8cx Gen 3 อย่างชัดเจนโดยเฉพาะตอนทำงาน Multi Thread แต่คะแนน Single Thread จะยังไม่หนีกันมาก อาจมาจากการออกแบบและชุดคำสั่งต่างๆ ภายในตัวชิปเซ็ตได้รับการปรับปรุงมาใหม่และมี NPU เข้ามาเสริมจึงทำงานได้ดีขึ้น

กลับกันถ้าเทียบกับซีพียูแบบ x86 แล้ว พลังประมวลผลจะเทียบเท่ากับ Intel Core i7-5960X เท่านั้น แม้จะได้คะแนนไม่มาก แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตัวชิปเซ็ตและ Windows 11 ต้องแบ่งกำลังไปรัน Prism Emulator ควบคู่กันด้วย ดังนั้นผลคะแนนจะลดลงไปก็เข้าใจได้

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

ชิ้นส่วนภายในเครื่องเมื่อเช็คด้วย Device Manager จะเห็นว่า ASUS Vivobook S 15 S5507QA ติดตั้งเซนเซอร์สแกนใบหน้าไว้ยืนยันตัวผู้ใช้มาให้ ผสานเข้ากับระบบ Windows Hello เพื่อยืนยันตัวก่อนปลดล็อคเครื่องมาควบคู่กับชิปรักษาความปลอดภัย TPM 2.0 เพิ่มความรัดกุมยิ่งขึ้น

ชิปเซ็ตสำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be เป็น Qualcomm FastConnect 7800 เชื่อมต่อ Wi-Fi 6GHz / 5GHz / 2.4GHz ได้ รับส่งข้อมูลได้เร็วสูงสุด 5.8 Gbps แบนด์วิธกว้าง 320MHz (160+160MHz) รองรับ Bluetooth 5.4 ในตัว

ข้อดีของ FastConnect 7800 คือ รองรับ Qualcomm aptX Voice, aptX Adaptive, aptX Lossless กับ Snapdragon Sound ในตัว เวลาต่อหูฟัง True Wireless รุ่นที่รองรับจะได้คุณภาพเสียงดีขึ้นทั้งตอนฟังเพลงและประชุมงานออนไลน์จะได้ยินเสียงคมชัดเป็นพิเศษ

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

M.2 NVMe SSD ความจุ 1TB ชื่อ MTFDKBA1T0QFM เป็นรหัสของ Micron 2400 SSD ยอดนิยมที่ ASUS เลือกใช้กับโน๊ตบุ๊คในเครือหลายรุ่น สเปคเป็นอินเทอร์เฟส PCIe 4.0 รองรับการเขียนไฟล์เข้าออกได้ 300 TBW ถ้าเทียบกับรุ่นความจุ 1TB ทั่วไปในท้องตลาดซึ่งรองรับการเขียนอ่านไฟล์ได้ 600 TBW จะดูน้อยไปบ้างแต่ก็ยังใช้งานได้นานหลายปี มีความเร็วการเขียนอ่านข้อมูลหลังจากทดสอบด้วย CrystalDiskMark 8 จะได้ผลดังนี้

สเปค/ผลทดสอบRead (MB/s)Write (MB/s)
สเปคจากโรงงาน4,5003,600
Sequential4,353.853,612.72
RND4K215.56313.79

ความเร็วของ Micron 2400 ใน ASUS Vivobook S 15 S5507QA นับว่าทำงานได้เร็วไล่เลี่ยกับ SSD ในโน๊ตบุ๊คทำงานรุ่นอื่นในเครือ ในแง่การทำงานก็สามารถเปิดโปรแกรมและเรียกไฟล์มาใช้งานได้รวดเร็วเพียงพอจนไม่ต้องอัปเกรดก็ได้

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

ผลคะแนนจากการทดสอบด้วย Geekbench 6 สำหรับทดสอบชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM โดยเฉพาะ ยิ่งได้คะแนนสูงยิ่งดี โดยผลทดสอบเทียบกับชิปเซ็ต Apple M2 Series ซึ่งทาง Qualcomm นำมาเทียบตั้งแต่เปิดตัวแล้ว จะได้ผลดังนี้

รุ่น/คะแนนSingle-CoreMulti-Core
Snapdragon X Elite (Vivobook S 15 เครื่องรีวิว)2,39212,814
MacBook Pro (16-inch, 2021) – Apple M1 Max2,36812,211
MacBook Pro (13-inch, 2022) – Apple M22,65910,034
MacBook Pro (14-inch, 2023) – Apple M2 Pro2,70512,597
MacBook Pro (16-inch, 2023) – Apple M2 Max2,66514,932

ช่วงคะแนนของ Snapdragon X Elite เทียบกับชิปเซ็ต Apple SoC หลังจากอัปเดตแพทช์ล่าสุดจาก ASUS แล้ว จะทำคะแนนได้ดีกว่าช่วงเปิดตัวใหม่ๆ จะเทียบได้แค่ Apple M1 เท่านั้น แต่หลังอัปเดตแล้วก็ได้คะแนนดีกว่าชิปเซ็ต Apple M1 Max, Apple M2 แล้ว สังเกตคะแนน Multi-Core จะสูงกว่า M2 Pro เสียอีก มั่นใจว่าถ้ามีแพทช์ใหม่เพิ่มมาก็น่าจะได้คะแนนดีกว่านี้แน่นอน

งานปั้นโมเดล 3D และทำกราฟิคต่างๆ ตัวชิป Snapdragon X Elite ก็ทำผลงานได้ค่อนข้างดี สามารถเปิดพรีวิวรวมถึงปั้นโมเดลสามมิติได้ไม่แพ้กับซีพียูทั่วไปในปัจจุบันอย่างแน่นอน ซึ่งคะแนนหลังทดสอบด้วยโปรแกรมตระกูล CINEBENCH จะได้ผลดังนี้

  • 2024 (Windows ARM64) – ใช้ทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูกับจีพียูอย่างหนักพร้อมกันโดยใช้เอนจิ้น Redshift สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนต์ ได้ CPU (Multi-Core) 894 pts และ CPU (Single Core) 106 pts
  • R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 10,328 pts และ Single Core อีก 1,099 pts
  • R20 – ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 4,252 pts
ASUS Vivobook S 15 S5507QA

ถึง ASUS Vivobook S 15 S5507QA จะใช้ทำงานได้ดีก็จริง แต่ยังไม่ค่อยเหมาะกับการเล่นเกมเท่าไหร่และต้องรอผู้พัฒนาเกมรวมถึง Qualcomm พอร์ตเกมมาให้เล่นเกมชิปเซ็ตนี้ได้ดีขึ้น ในการทดสอบเล่นเกมด้วย 3DMark Time Spy ที่ใช้ DirectX 12 API จะรันไม่ได้แม้ในหน้าสเปคของ SoC จะขึ้นว่ารองรับก็ตาม เจออาการเปิดแล้วหยุดทำงานกะทันหันทุกรอบการทดสอบ จึงต้องย้อนมาใช้ Fire Strike ซึ่งเป็น DirectX 11 API แทน

ผลคะแนนเฉลี่ยของ Snapdragon X Elite กับชิป Qualcomm Adreno จะได้คะแนนเฉลี่ย 6,101 คะแนน แยกเป็น Graphics score 6,463 คะแนน, Physics score 17,105 คะแนน, Combined score ไปได้ 2,559 คะแนน สรุปได้ว่าตัวซีพียูกับจีพียูมีประสิทธิภาพดีพอควร สามารถเล่นเกมชั้นนำได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องรอการปรับปรุง API ใดๆ ให้ดีขึ้นก่อน

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

จากผลคะแนนก็บอกได้ว่าเฟรมเรทตอนเล่นเกมด้วย ASUS Vivobook S 15 S5507QA อาจนับว่าพอเปิดเล่นได้แต่ก็ไม่แนะนำให้เปิดกราฟิคสูงสุดนัก เพราะจากการทดสอบจะเห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยของแต่ละเกมอยู่ในระดับพอเล่นได้และกราฟิคภายในเกมก็ลดคุณภาพลงพอควรอีกด้วย ซึ่งสัมผัสเวลาทดสอบเล่นแต่ละเกมจะเป็นดังนี้

  • Resident Evil 4 Remake (RE Engine) : เฟรมเรทเฉลี่ยราว 14 Fps แม้จะเปิดเล่นได้แต่ก็ไม่แนะนำนัก ช่วงเริ่มต้นเกมระหว่างเรนเดอร์ Shaders ในเกมมีอาการภาพค้างกระตุกไปราว 2~3 วินาที ระหว่างเล่นเจออาการภาพหน่วงและ Input Lag ระหว่างยิงปืนหรือทำลายสิ่งของในฉากเป็นช่วงๆ และถ้าปรับความละเอียดภาพสูงเกิน 1080p จะเจอบั๊กภาพเกมล้มครึ่งหน้าจอจนเล่นไม่ได้
  • The Witcher 3: Wild Hunt (REDengine) : เฟรมเรทเฉลี่ย 43 Fps สามารถเปิดเล่นได้แล้วภาพไม่กระตุก แต่รายละเอียดของตัวละคร, หญ้า, อาคาร รวมถึงเอฟเฟคต่างๆ โดนลดทอนความคมชัดและรายละเอียดหยาบลงพอควรจนเกือบเป็นกรอบพิกเซล นอกจากนี้ตัวเกมยังบังคับไม่ให้ปรับความละเอียดหน้าจอเกิน 1366*768 พิกเซลอีกด้วย
  • Genshin Impact (Unity Engine) : ปรับกราฟิคสูงสุดเล่นได้ราว 34 Fps ควบคุมตัวละครเล่นได้ตามปกติ ตอบสนองการควบคุมได้ค่อนข้างดีและ Input Lag น้อย เรนเดอร์ฉาก Open world ได้ไม่มีปัญหาโหลดหรือหน่วง
  • Honkai: Star Rail (Unity Engine) : เฟรมเรทเฉลี่ย 48 Fps เวลาเดินในฉาก Open world ไปยังโซนต่างๆ ไม่เจออาการกระตุกค้าง แต่บางครั้งเฟรมเรทจะหน่วงลดลงไปชั่วครู่แล้วกลับมาเล่นได้ตามปกติ แต่ในฉากต่อสู้สามารถเล่นได้ดีตามปกติ

กรณีของ Resident Evil 4 Remake และ The Witcher 3: Wild Hunt สองเกมนี้ถูกพอร์ตให้เล่นกับ Windows on ARM ได้ก็จริง แต่ก็ยังทำเฟรมเรทได้ไม่สูงนัก กลับกันเกมที่พัฒนาด้วย Unity Engine อย่าง Genshin Impact และ Honkai: Star Rail จะเปิดเล่นได้ทันทีเพราะทางผู้พัฒนาเอนจิ้นเกมปรับแต่งให้รองรับอุปกรณ์ Arm-based Windows ตั้งแต่เวอร์ชั่น Unity 2023.1 แล้ว

อาจกล่าวได้ว่า ASUS Vivobook S 15 S5507QA นั้นเกิดมาเพื่อคนทำงาน โดยเฉพาะใครต้องพกคอมไปไหนมาไหนเป็นประจำแล้วไม่อยากพกพาวเวอร์แบงค์หรือสายชาร์จให้วุ่นวายก็ใช้ได้ ตั้งแต่พนักงานออฟฟิศทั่วไป, ช่างภาพถ่ายงานนอกสถานที่หรือแม้แต่โปรแกรมเมอร์ก็ใช้มันทำงานได้ กลับกันผู้ใช้ยังต้องรอทาง Qualcomm กับ Microsoft ปรับแต่งชุดคำสั่ง API ต่างๆ เพิ่มอีกพอสมควร Snapdragon X Elite ถึงจะพอเล่นเกมชั้นนำต่างๆ ได้เทียบเท่ากับ x86 อาจใช้เวลาราว 1~2 ปี ขึ้นไปแน่นอน

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

โปรแกรมประจำเครื่องอย่าง MyASUS ก็ยังติดตั้งมาให้ใช้งานเช่นเดียวกับรุ่นอื่นในเครือ มีฟังก์ชั่นถนอมพาเนล OLED ให้ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น มี Smart Gestures ของแป้นทัชแพดเสริมเข้ามาให้เลือกเปิดใช้ รวมถึงช่วยดาวน์โหลดและอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด ก็ขอแนะนำให้เปิดโปรแกรมนี้มาเช็คแพทช์ใหม่เป็นระยะๆ จะช่วยให้โน๊ตบุ๊คนี้ทำงานได้ดีขึ้น


Battery, Heat & Noise

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

แบตเตอรี่ 70Whr ของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA มีความจุมากไล่เลี่ยกับซีรี่ส์ Zenbook พอชิปเซ็ตเป็น Snapdragon X Elite ก็ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่โดยปรับความสว่างหน้าจอเหลือ 50% ลดเสียงลำโพงเหลือ 10% และใช้โหมดประหยัดพลังงานดูคลิป YouTube นาน 30 นาทีด้วย Microsoft Edge แล้ว Vivobook S 15 จะใช้งานได้นาน 14 ชั่วโมง 25 นาที เทียบกับการเคลมระยะเวลาใช้งานหน้าเว็บไซต์ 18 ชั่วโมงแล้ว จะใช้งานได้สั้นกว่าราว 3 ชั่วโมงครึ่ง

ถึงจะใช้งานได้สั้นกว่าก็จริง แต่ระยะเวลาร่วม 14 ชั่วโมงครึ่งซึ่งเกินระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงว่าแบตเตอรี่จะหมดระหว่างวันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ถ้าแบตเตอรี่เต็มไม่ต้องเตรียมพาวเวอร์แบงค์หรืออะแดปเตอร์ GaN ติดกระเป๋าไปเผื่อเลย ยิ่งถ้าใช้ทำงานเอกสาร, เปิดเว็บไซต์, พรีเซนต์งานบ้าง มั่นใจว่าแบตเตอรี่จะเหลือราว 50% หรือมากกว่าแน่นอน

นอกจากจะใช้พลังงานน้อยไม่กินแบตเตอรี่มากนัก ชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM ก็ไม่ร้อนเลย พัดลมของ ASUS IceCool แทบไม่หมุนให้รำคาญแม้แต่น้อย จากภาพตอนรันโปรแกรม FurMark 2 รีดให้อุณหภูมิเครื่องสูงขึ้นสักพักแล้วเช็คด้วยกล้องอินฟราเรดหรือเลเซอร์จับอุณหภูมิก็ตาม จะเห็นว่าตรงกลางเครื่องแถบปุ่ม G, H, J เหนือชิปเซ็ตยังมีอุณหภูมิสูงสุดราว 36.9 องศาเซลเซียส ห่างออกไปเล็กน้อยแถบปุ่ม A, S, D หรือ Numpad ก็ยิ่งเย็นลงไปอีก แม้แต่ช่องระบายความร้อนยังมีอุณหภูมิสูงสุดแค่ 32~38 องศาเซลเซียสเท่านั้น ดังนั้นตัดกังวลเรื่องความร้อนหรืออาการ Throttle down แบบชิปเซ็ต x86 ทิ้งไปได้เลย

ASUS Vivobook S 15 S5507QA
Idle mode

พอชิปเซ็ตไม่ร้อนมากพัดลมก็ไม่ต้องทำงานหนักและเสียงก็เบาตามจนเบากว่าเสียงพูดตามปกติเสียอีก จะเห็นว่าเครื่องวัดความดังเสียงขึ้นโชว์ว่าจะปล่อยเครื่องสแตนด์บายเอาไว้หรือจะเปิดโปรแกรมทำงานหนักๆ ก็ยังดังเพียง 47dB ซึ่งเป็นเสียงจากสภาพแวดล้อมเสียมากกว่า อย่างมากตอนพัดลมทำงานก็แค่ได้ยินเสียงแว่วมาเบาๆ เท่านั้นและดังขึ้นไปราว 50~52dB เท่านั้น นับเป็นโน๊ตบุ๊คที่เสียงพัดลมเบาสุดในปัจจุบันนี้


User Experience

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

หลังจาก Microsoft ประกาศโน๊ตบุ๊ค Copilot+ PC รับลูกชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon X Elite ไม่นาน ASUS Vivobook S 15 S5507QA ก็เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในเวลาไม่นานและยังประมวลผลคำสั่ง AI ต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าจะ Microsoft Copilot หรือแม้แต่ LLMs (Large Language Model) ก็สั่งการและตอบสนองได้ทันใจ อยากได้คำตอบหรืออยากสั่งให้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านั้นทำอะไรให้ก็พิมพ์ลงไปแล้วรอเพียงอึดใจเดียว มันก็ตอบสนองแทบจะในทันทีเพราะมี NPU พลังประมวลผล 45 TOPs ติดตั้งมาในตัวชิปเป็นใจความ

ผลดีต่อมาคือชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM ทั้งกินไฟน้อย ทำงานได้เร็วและไม่ร้อน ถ้าทำงานออฟฟิศเปิดเว็บไซต์หรือแก้ไขเอกสารจะแทบไม่ได้ยินเสียงพัดลม ASUS IceCool ทำงานเลยจนเสียงพูดปกติยังดังกว่าด้วยซ้ำ อย่างมากตอนรันโปรแกรมทำงาน 3D อาจจะพอได้ยินเสียงพัดลมทำงานอยู่ประปราย จึงไม่รบกวนหูเจ้าของหรือผู้อื่นแน่นอน และต่อให้ไม่เสียบปลั๊ก Vivobook S 15 S5507QA ก็ยังทำงานได้ดีจนบทบาทของอะแดปเตอร์แทบจะเหลือแค่เอาไว้ชาร์จตอนแบตเตอรี่เหลือน้อยเท่านั้น

ระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ก็เป็นจุดน่าประทับใจเป็นพิเศษ ถ้าใช้ทำงานออฟฟิศตามระยะเวลาทำงานตามปกติแล้ว แบตเตอรี่จะลดช้าและน้อยมากไม่ต่างกับสมาร์ทโฟนเลยจนจบวันยังมีไฟเหลือให้ใช้งานราว 50% อยู่เป็นระยะๆ จึงไม่ต้องพกอะแดปเตอร์หรือพาวเวอร์แบงค์เผื่อไว้ชาร์จ Vivobook S 15 เลยก็ยังได้ อย่างมากอาจเตรียมเผื่อไว้แค่ตอนต้องเปิดโปรแกรมตัดต่อวิดีโอหรือปั้นโมเดล 3D นิดหน่อยก็พอ และถ้าต่อเป็นเดสก์ท็อปพีซีตั้งโต๊ะก็ต่อหน้าจอเข้าพอร์ต USB 4.0 Gen 3 Type-C, HDMI ก็ทำงานในวันอยู่ออฟฟิศได้เลย

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

เรื่องความปลอดภัยของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA ก็ได้กล้องหน้าอินฟราเรดไว้สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องติดตั้งมาคู่กับกล้องเว็บแคมเหมือนกับโน๊ตบุ๊คทำงานระดับพรีเมี่ยม เสริมด้วยฟังก์ชั่นหรี่แสงหน้าจอและกลับไปหน้า Log in โดยอัตโนมัติติดมาให้ซึ่งรักษาความปลอดภัยได้ดี แต่บางครั้งก็ไม่ทำงานทั้งนั่งทำงานอยู่หน้าคอมมานานกว่าชั่วโมงแล้ว อาจต้องรอการอัปเดตเฟิร์มแวร์จาก ASUS ให้แก้ปัญหานี้ได้ในอนาคต

ถึงจะดูดีน่าใช้ก็จริง แต่ ASUS Vivobook S 15 S5507QA ก็ยังต้องรอการอัพเดตและปรับแต่งโปรแกรมต่างๆ ให้ใช้งานกับชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM ได้ดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกินเวลาในช่วงแรกสักระยะและจะมีการอัปเดตแพทช์ตามมาอีกอย่างแน่นอน แม้จะมี Prism Emulator ก็ยังพอใช้แปลงโปรแกรมแบบ 32-bit (x86) ได้เท่านั้น ยังต้องรอทาง Microsoft จัดการให้รองรับ 64-bit (x64) ได้ในอนาคต รวมถึงเกมก็ต้องรอให้ Qualcomm จัดการพอร์ตเกมใหม่และ Optimize เกมที่มีอยู่ให้เล่นได้ดีขึ้น ถึงจะแสดงพลังออกมาได้เต็มประสิทธิภาพ อาจต้องให้เวลากับแต่ละบริษัทสัก 3~6 เดือนขึ้นไป ส่วนใครเป็นสิงห์ปืนไวจะรีบซื้อมาลองก่อนก็ใช้กับโปรแกรมทั่วไปได้ ไม่มีปัญหาแน่นอน


Conclusion & Award

ASUS Vivobook S 15 S5507QA

ASUS Vivobook S 15 S5507QA เป็นคำตอบจากบรรดายักษ์แห่งวงการไอทีว่าจะมีโน๊ตบุ๊คชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM ออกมาให้เลือกซื้อหรือไม่? แล้วจะเทียบชั้นกับ Apple SoC ได้หรือเปล่า? ซึ่งผลลัพธ์ก็ค่อนข้างน่าประทับใจโดยเฉพาะคนที่ใช้งาน AI ไม่ว่าจะใช้บ้างหรือเป็นประจำก็เหมาะ แถมโปรแกรมทั่วไปก็เปิดใช้ได้ปกติและจะมีอีกหลายโปรแกรมถูกพอร์ตมาให้ใช้ได้อีกในอนาคตแน่นอน นับว่ามีอนาคตไปอีกไกลและอาจเป็นทางเลือกที่ 3 สำหรับผู้ใช้ได้แน่นอน

Award

NBS award Innovation

Best Innovation

ชิปเซ็ต Snapdragon X Elite กับ Windows on ARM ใน ASUS Vivobook S 15 S5507QA นั้นเหมาะกับยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง ทั้งใช้งานกับ AI ได้ยอดเยี่ยมก็ยังรองรับโปรแกรมทั่วไปได้ด้วย Prism Emulator จึงพร้อมทำทุกงานอย่างแน่นอน

award new Battery Life

Best Battery Life

ระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ของ Vivobook S 15 ยาวนานร่วม 15 ชั่วโมง จนบอกลาอะแดปเตอร์กับพาวเวอร์แบงค์ไปได้เลย จะเอาไปพรีเซนต์งาน, พบลูกค้าหรือประชุมยาวๆ ก็ไม่ต้องกังวลสักนิด

NBS award 4 Mobility

Best Mobility

โน๊ตบุ๊คหน้าจอ 15.6 นิ้วทั่วไปจะหนักราว 1.6 กก. ขึ้นไป แต่ Vivobook S 15 S5507QA เบาเพียง 1.42 กก. บางเพียง 1.47 ซม. จึงพกพาง่ายไม่กินพื้นที่ในกระเป๋ามากนัก ดีต่อคนชีพจรลงเท้าแน่นอน


Viewing all articles
Browse latest Browse all 41

Trending Articles